ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ ชื่อสามัญ Aloe, Aloe vera, Aloin, Barbados, Jafferabad, Star cactus
สมุนไพรว่านหางจระเข้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ), หางตะเข้ (ภาคกลาง) เป็นต้น
ต้นว่านหางจระเข้ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบหนาและยาว อวบน้ำ แผ่นใบมีสีเขียว มีจุดยาวสีขาวอ่อนออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีหนามแหลมเล็ก ๆ สีขาวอยู่ห่างกัน ข้างในใบเป็นวุ้นสีเขียวอ่อน ส่วนดอกว่านหางจระเข้ ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ดอกมีสีแดงอมสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น เป็นรูปแตร ส่วนผลว่านหางจระเข้ เป็นผลแห้งคล้ายรูปกระสวย
คำว่า “อะโล” (Aloe) มาจากภาษากรีกโบราณที่หมายถึงว่านหางจระเข้ ซึ่งเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “Allal” ในภาษายิวที่มีความหมายว่าฝาดหรือขม เพราะเมื่อคนได้ยินคำนี้ก็จะนึกถึงว่านหางจระเข้นั่นเอง ว่านหางจระเข้ปกติแล้วเป็นพืชที่ขึ้นในเขตร้อนและภายหลังได้แพร่ขยายพันธุ์ไปสู่เอเชียและยุโรป จนทุกวันนี้ว่านหางจระเข้ก็เป็นที่นิยมของทั่วโลกไปแล้ว โดยว่านหางจระเข้จะมีมากมายกว่า 300 สายพันธุ์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตรไปจนถึงสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะพิเศษของว่านหางจระเข้ก็คือ มีใบแหลมคล้ายเข็ม มีเนื้อหาและในเนื้อมีน้ำเมือกเหนียว
เมื่อพูดถึง สมุนไพรว่านหางจระเข้ เรามักจะนึกถึงสรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้ทาเพื่อป้องรอยแผลเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งสารที่สามารถใช้รักษาแผลดังกล่าวได้เป็นสาร Glycoprotein ที่มีชื่อว่า Aloctin A เป็น Anti-inflammatory ที่พบได้ในทุก ๆ ส่วนของว่านหางจระเข้ ซึ่งนอกจากสรรพคุณดังกล่าวแล้วยังมีประโยชน์ของว่านหางจระเข้อื่น ๆ อีกมากมาย ไปดูกันเลย…
สรรพคุณของว่านหางจระเข้
- ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้น หรือจะทำเป็นน้ำปั่นว่านหางจระเข้มาดื่มก็ได้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคเบาหวานได้
- ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการตัดใบสดของว่านหางจระเข้แล้วทาปูนแดงด้านหนึ่ง แล้วเอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ (ใบ)
- วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ
- สรรพคุณว่านหางจระเข้ช่วยแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาปอกเปลือกเอาแต่วุ้น นำมารับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (เนื้อวุ้น)
- ใช้เป็นถ่าย ยาระบาย ที่เปลือกของว่านหางจระเข้จะมีน้ำยางสีเหลือง ในน้ำยางจะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากนำน้ำยางไปเคี่ยวให้น้ำระเหยออกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะได้สารสีน้ำตาลเกือบดำ หรือเรียกว่า “ยาดำ” ซึ่งยาดำนี้เองใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอยู่หลายตำรับ (ยางในใบ)
- ช่วยรักษาอาการท้องผูก ด้วยการกรีดเอายางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนยาสีดำ (ยาดำ) แล้วตักมาใช้ประมาณช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย แล้วคนจนละลาย โดยผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชาก่อนนอน แต่ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาก่อนนอน
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เนื้อวุ้นจากใบเหลาให้เป็นปลายแหลมเล็กน้อย และนำไปแช่ตู้เย็นหรือน้ำแข็งจนเนื้อแข็ง แล้วนำไปใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ควรหมั่นทำเป็นประจำวันละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะหาย (เนื้อวุ่น)
- ช่วยแก้หนองใน (ราก, เหง้า)
- ช่วยแก้มุตกิดหรือระดูขาวของสตรี (ราก, เหง้า)
- ทั้งต้นของว่านหางจระเข้มีรสเย็น ใช้ดองกับสุรานำมาดื่มช่วยขับน้ำคาวปลาได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยบรรเทาและแก้อาการปวดตามข้อ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้งเป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
- ใบว่านหางจระเข้มีรสเย็น นำมาตำผสมกับสุราใช้พอกรักษาฝีได้ (ใบ)
- ช่วยรักษาแผลสด แผลจากของมีคม แผลที่ริมฝีปาก แก้ฝี แก้ตะมอย ด้วยการใช้วุ้นจากใบนำมาแปะบริเวณแผลให้มิดชิดและใช้ผ้าปิดไว้ แล้วหยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้ชุ่มอยู่เสมอ หรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้ (วุ้นจากใบ)
- ช่วยรักษาแผลถลอกและแผลจากการถูกครูด (แผลพวกนี้จะเจ็บปวดมาก) ให้ใช้วุ้นว่านหางจระเข้นำมาทาแผลเบา ๆ ในวันแรกต้องทาบ่อย ๆ จะช่วยในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น และทำให้ไม่เจ็บแผลมาก (วุ้นจากใบ)
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยดับพิษร้อนบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากแผล ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดที่ล้างน้ำสะอาด แล้วฝานบาง ๆ นำมาทาหรือแปะไว้บริเวณแผลตลอดเวลา จะช่วยทำให้แผลหายเร็วมากขึ้นและอาจไม่เกิดรอยแผลเป็นด้วย (วุ้นจากใบ)
- ช่วยขจัดรอยแผลเป็น ทำให้แผลเป็นจางลง ป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น (วุ้นจากใบ)
- ช่วยรักษาตาปลาและฮ่องกงฟุต ด้วยการใช้วุ้นจากใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาปิดไว้บริเวณที่เป็นและหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
- วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการใช้วุ้นจากใบทาก่อนออกแดด หรือจะใช้ใบสดก็ได้ แต่ใบสดอาจทำให้ผิวหนังแห้ง เพราะใบมีฤทธิ์ฝาดสมาน ถ้าต้องการลดการทำให้ผิวแห้ง ก็อาจจะใช้ร่วมกับน้ำมันพืชหรืออาจเตรียมเป็นโลชั่นก็ได้ (วุ้นจากใบ)
- ช่วยรักษาอาการผิวหนังไหม้จากแสงแดด หรือไหม้เกรียมจากการฉายรังสี หรือแผลเรื้อรังจากการฉายรังสี โดยนำวุ้นของว่ายหางจระเข้มาทาผิวบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดการอักเสบได้ แต่ถ้าไปนาน ๆระวังผิวแห้ง ควรผสมกับน้ำมันพืช เว้นแต่ว่าจะทำให้ผิวเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา (วุ้นจากใบ)
- วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อรักษาฝ้า (วุ้นจากใบ)
- ช่วยรักษาโรคเรื้อนกวาง (โรคสะเก็ดเงิน) ช่วยลดการตกสะเก็ดและลดอาการคันของโรคเรื้อนกวาง ทำให้แผลดูดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
ประโยชน์ของว่านหางจระเข้
- น้ําว่านหางจระเข้ สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยชะลอความแก่ชรา และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย
- ว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ รวมไปถึงกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุแมงกานีส ธาตุซีลีเนียม ธาตุโครเมียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามิอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 โคลีน และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มีวิตามินบี 12 ด้วย
- ช่วยในการย่อยอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ ช่วยในการดีท็อกซ์ล้างสารพิษในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบกระเพาะอาหาร และช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
- จากวารสารแพทย์อังกฤษตีพิมพ์ในปี 2000 (British medical journal) ระบุว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และอาจจะมีความเป็นไปได้ว่ามันสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
- ช่วยป้องกันและแก้อาการเมารถเมาเรือ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้หรือน้ําว่านหางจระเข้เย็น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
- การใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาเป็นประจำวันละ 2-4 ครั้ง จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยทำให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ดูชุ่มชื้น แก้ปัญหาผิวแห้งกร้านตามหัวเข่า, ข้อศอก หรือส้นเท้าได้ เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้แช่ในอ่างอาบน้ำ ในระหว่างอาบให้ใช้เนื้อวุ้นถูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องการ หากทำเป็นประจำก็จะช่วยทำให้ผิวพรรณของคุณเนียนนุ่มชื่นชื้นและเต่งตึงได้
- ช่วยเติมน้ำให้ผิว ทำให้ผิวหน้าและผิวกายชุ่มชื้น และป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้นำมาพอกให้ทั่วบริเวณใบหน้าหรือบริเวณผิวที่ต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้นสดใสและดูเต่งตึงขึ้น
- ว่านหางจระเข้รักษาสิว ยับยั้งการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของสิว ช่วยลดรอยดำจากสิว และช่วยลดความมันบนใบหน้า เพราะในใบว่างหางจระเข้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ (ไม่แนะให้ใช้กับสิวอักเสบ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย)
- ช่วยรักษาจุดด่างดำตามผิวหนัง อันเนื่องมาจากแสงแดดหรือจากอายุที่มากขึ้น ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดนำทาที่ผิววันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะเห็นผล
- ช่วยป้องกันการเกิดฝ้า หากใช้ว่านหางจระเข้เป็นประจำก็จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้เป็นอย่างดี (ไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการป้องกัน)
- วุ้นจากใบสดใช้ชโลมบนเส้นผม จะช่วยทำให้เส้นผมสลวย ผมดกเป็นเงางาม ช่วยป้องกันและขจัดรังแค ช่วยบำรุงต่อมที่รากผมให้มีสุขภาพดี และยังช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะได้อีกด้วย
- ในฟิลิปปินส์ ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ร่วมกับเนื้อในของเมล็ดสะบ้า ในการรักษาผมร่วงหรือหนังศีรษะล้าน
- ปัจจุบันได้มีการทดลองใช้วุ้นจากใบเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นแผลกดทับ (Bedsore)
- ประโยชน์ว่านหางจระเข้ช่วยลบท้องลายหลังคลอด ด้วยการใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มาทาบริเวณท้องเป็นประจำทั้งในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด
- สูตรว่านหางจระเข้พอกหน้า
- สูตรบำรุงผิวหน้า กระชับรูขุมขน เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำแตงกวา 1-2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
- สูตรลดสิว รักษารอยดำจากสิว ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / ไข่ขาว 2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากัน ใช้ทาบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
- สูตรลดความมัน แก้ปัญหาจุดด่างดำ ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำมะนาว 1 ช้อนชา / น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา / ดินสอพอง 2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมให้เข้ากันแล้วนำมาพอกบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
- สูตรผิวหน้ากระจ่างใส ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
- สูตรเพิ่มความกระจ่างใส ลดความมัน ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ขมิ้นผง 2 ช้อนชา นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
คำแนะนำในการใช้ว่านหางจระเข้
- การเลือกใช้ใบจากต้นว่านหางจระเข้ควรเลือกต้นที่มีอายุมากกว่า 1 ขึ้นไป และให้เลือกใบล่างสุดเพราะจะอวบโตและมีวุ้นมากกว่าใบที่อยู่ด้านบน
- เนื่องจากวุ้นของว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรปอกโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ Aseptic technique เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การนำวุ้นมาใช้เพื่อรักษาแผลจำเป็นต้องล้างน้ำให้สะอาด เพื่อป้องกันน้ำยางจากเปลือกที่มีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้
- ว่านหางจระเข้จะมีคุณภาพสูงสุดเมื่อตัดมาแล้วใช้ทันที และจะมีสรรพคุณทางยาที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
- วุ้นของว่านหางจระเข้จะไม่คงตัวเท่าไหร่นัก ดังนั้นถ้าปอกแล้วจะเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
- หากนำว่านหางจระเข้ไปแช่ในตู้เย็นจนเย็นก่อนการนำมาใช้ จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นเย็นสบายมากยิ่งขึ้น
- การใช้เพื่อใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่กำลังจะมีประจำเดือน รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารด้วย
- การใช้วุ้นจากใบเพื่อใช้เป็นยาทาภายนอก สำหรับบางรายแล้วอาจจะเกิดอาการแพ้ได้ (จากงานวิจัยพบว่าไม่ถึง 1%) โดยลักษณะของอาการแพ้หลังจากหรือปิดวุ้นลงบนผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดงบาง ๆ หรืออาจมีอาการเจ็บแสบด้วย โดยอาการจะแสดงหลังจากทาไปแล้วประมาณ 2-3 นาที ถ้าคุณมีอาการแพ้หลังการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ ก็ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเลิกใช้ทันที
- ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากhttps://medthai.com/%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89/